8 ก.พ. 2556 เวลา 22:53 น., โดย จำรัส เซ็นนิล
อย่าสิ้นหวัง
" ความล้มเหลว..คืองานวิจัย"

ลุงประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์พื้นบ้าน
เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ
ลุงประยงค์ รณรงค์
ปราชญ์ชาวบ้าน เจ้าของรางวัลแมกไซไซ ปี ๒๕๔๗
เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ อยู่บ้านเลขที่ ๕๑ หมู่ที่ ๙ ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
การศึกษา จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ นักธรรมโท
ผลงาน / เกียรติคุณ พ.ศ. ๒๕๓๐ ผู้นำอาชีพก้าวหน้าของกระทรวงมหาดไทย
พ.ศ. ๒๕๓๗ คนดีศรีสังคม
พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมไทย
พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้รับการยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๑ ของ สกศ.
ลุงประยงค์ เป็นชาวบ้านธรรมดา อายุ ๖๗ ปี คนตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียนจบชั้น ป.๔ แล้วเรียนต่อในชีวิตจริงอย่างไม่รู้จบในสถาบันที่วันนี้เขาเรียกได้เต็มปากว่า “มหาวิทยาลัยชีวิต” เป็นผู้นำชุมชนไม้เรียงที่ไม่มีตำแหน่งทางการ แต่ได้รับการยอมรับจากคนไม้เรียง คนนครศรีธรรมราช และชุมชนทั่วประเทศว่าเป็น “ผู้นำ” ทางปัญญา ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาเรียนรู้และค้นหาทางออกเพื่อให้พึ่งพาตนเอง ไม่ใช่นั่งรอความช่วยเหลือจากรัฐหรือใครก็ได้
ลุงประยงค์ จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของการจัดระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นของตนเอง ทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นจริง มีรูปธรรมที่จับต้องได้ มีพื้นฐานมั่นคงและพัฒนาทั้ง ๓ ระดับ คือ พึ่งตนเองระดับครอบครัว พึ่งพาอาศัยกันระดับชุมชนและเครือข่าย และนำผลผลิตบางตัวออกไปสู่ตลาดภายนอก เป็นต้นแบบของวิสาหกิจชุมชนในการจัดการทุนของเอกชน เพื่อพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ทุนในที่นี้ไม่ได้หมายถึง เงิน แต่หมายรวมถึง ทรัพยากร ผลผลิตความรู้ภูมิปัญญา และทุนทางสังคม
ชุมชนไม้เรียงสามารถแบ่งกลุ่มคนที่สนใจเรื่องอาชีพที่เหมือนๆกัน แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ซึ่งทำให้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกันมาเจอกันและแลกเปลี่ยนช่วยเหลือกันได้สะดวก ส่วนการให้ในสิ่งที่ชาวบ้านควรรู้ จะเป็นการเปิดหูเปิดตาให้เขาได้ เพราะยุคนี้เป็นยุคการสื่อสารที่ไร้ขีดจำกัด เราสามารถไปจากที่หนึ่งสู่อีกที่หนึ่งได้ในเวลาเพียงชั่วพริบตา
“การให้ในสิ่งที่ชาวบ้านอยากรู้และให้ในสิ่งที่เขาควรรู้ จึงจะเป็นการพัฒนาคนให้มีความสามารถในการแก้ปัญหาปากท้องและปัญหาอื่นๆ ของตัวเขาเองได้ แล้วยังส่งผลให้สามารถแก้ปัญหาร่วมกันของชุมชนได้ด้วย” ลุงประยงค์ กล่าว
สำหรับลุงประยงค์ ถือเป็นผู้นำชุมชนที่ได้รับการยอมรับจากชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช และคนในชุมชนทั่วประเทศ ว่าเป็นผู้นำทางปัญญาคนหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาเรียนรู้และค้นหาทางออก ในการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน