3 ก.ค. 2554 เวลา 6:45 น., โดย จำรัส เซ็นนิล
โรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง
ปัจจุบันปัญหาโรคภัยไข้เจ็บจะคืบคลานเข้ามาเยี่ยมเยียนเราแทบจะทุกเวลานาทีถึงแม้เราจะไม่ต้อนรับมัน อาจเป็นเพราะอาหารการกินที่เรากินเข้าไปทุกวัน และสภาพแวดล้อมที่เราอยู่อาศัย ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆตามมา โรคความดันโลหิตสูงก็เป็นอีกโรคที่เป็นกันมาก ใครเป็นแล้วถ้าไม่ได้รับการดูแลสุขภาพให้ตรงจุด ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตฉับพลัน
คุณกมล วิชัย จากจังหวัดเชียงใหม่ ได้รวบรวมตำราของอาจารย์สันติ แซ่ฉั่ว ซินแซซื่อดังที่สืบทอดภูมิปัญญาสมุนไพรทั้งของไทยและจีนเอาไว้ อาจารย์สันติได้เขียนถึงโรคความดันโลหิตสูงไว้น่าสนใจว่า
ความดันโลหิตสูง คือแรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจที่สามารถวัดได้โดยใช้เครื่องวัดความดัน ( ) ทำการวัดที่แขน จะมีค่าที่ได้ ๒ ค่า คือ
-
ความดันช่วงบน หรือความดันซิสโตลิก หมายถึงเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว อาจจะสูงขึ้นตามอายุ ในคนเดียวกัน อาจจะมีค่าแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยตามท่าทางของร่างกาย ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และการออกกำลังกาย
-
ความดันช่วงล่าง หรือความดันไดแอสโตลิก คือแรงดันของเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว
องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดค่าของความดันโลหิตสำหรับผู้ใหญ่ไว้ดังนี้
ความดันช่วงบน วัดได้ตั้งแต่ ๑๔๐ มิลลิเมตรปรอทลงมา ถือว่าปกติ
วัดได้ระหว่าง ๑๔๑-๑๕๙ มิลลิเมตรปรอท ถือว่า เป็นระดับก้ำกึ่ง
วัดได้ตั้งแต่ ๑๖๐ มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปถือว่าสูง
ความดันช่วงล่าง วัดได้ตั้งแต่ ๙๐ มิลลิเมตรปรอทลงมา ถือว่าปกติ
วัดได้ระหว่าง ๙๑-๙๔ มิลลิเมตรปรอท ถือว่า เป็นระดับก้ำกึ่ง
วัดได้ตั้งแต่ ๙๕ มิลลิเมตรปรอท ถือว่าสูง
เพราะฉะนั้นความดันโลหิตสูงจึงหมายถึง ความดันช่วงบนมีค่าเท่ากับหรือมากกว่า ๑๖๐ มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปเวลาเขียนถ้าความดันช่วงบน ๑๘๐ ช่วงล่าง ๑๑๐ จะเขียนว่า ๑๘๐/๑๑๐
อาการที่มักพบสำหรับผู้ป่วยโรคความดัน
ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการผิดปกติประการใดที่แสดงให้เห็น มีบ้างส่วนน้อยอาจมีอาการมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ วิงเวียนมักเป็นเวลาตื่นนอนใหม่ๆบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะตุบๆแบบไมเกรนได้ ในรายที่เป็นนานๆอาจมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัวหรือมีเลือดกำเดาไหล เมื่อปล่อยไว้นานๆอาจมีอาการของโรคต่างๆแทรกซ้อนได้แก่
โรคหัวใจ ทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายโต จนกระทั่งเกิดอาการภาวะหัวใจวาย มีอาการบวม หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ และจะทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบตันกลายเป็นโรคหัวใจขาดเลือด มีอาการเจ็บหน้าอก ถ้ารุนแรงอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย
โรคที่เกี่ยวกับสมอง อาจเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบตันหรือแตกกลายเป็นอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ในรายที่เส้นเลือดฝอยสมองส่วนสำคัญแตกก็อาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วหากเป็นเรื้อรังอาจกลายเป็นโรคสมองเสื่อมได้ สำหรับผู้ที่มีความดันสูงรุนแรงอย่างเฉียบพลัน อาจทำให้เกิดอาการชักและเป็นลมหมดสติได้
โรคเกี่ยวกับไต อาจเกิดภาวะโรคไตวายเรื้อรังได้ เนื่องจากหลอดเลือดแดงเสื่อม เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ ไตที่วายยิ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
โรคเกี่ยวกับตา จะเกิดภาวะเสื่อมของหลอดเลือดแดงภายในลูกตาอย่างช้าๆ ในระยะเริ่มแรกหลอดเลือดจะตีบตัน ต่อมาอาจจะแตกมีเลือดออกที่จอตาทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัวลงเรื่อยๆจนตาบอดได้
ในตำรายาสมุนไพรโบราณแนะนำสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงให้ใช้สมุนไพรดังนี้
หญ้าหนวดแมว ๑ กำมือ เมล็ดชุมเห็ดเทศจีน ๓๐ กรัม หนวดข้าวโพด ๓ กำมือ กาฝากต้นหม่อน ๔๐ กรัม
รากหญ้าคาสด ๑ กำมือ นำส่วนผสมทั้งหมดใส่น้ำพอประมาณ ๑ เท่าตัว แล้วต้มประมาณ ๑ ชั่วโมงด้วยไฟอ่อนๆใช้ดื่มแทนน้ำ หรือจะใช้อีกสูตรก็ได้ โดยใช้เมล็ดชุมเห็ดไทย ๑ ช้อนโต๊ะ กาฝากต้นหม่อน ๔๐ กรัม ดอกคำฝอย ๑ ช้อนโต๊ะรากหญ้าคา ๗๐ กรัม ดอกเก๊กฮวย ๒ ช้อนโต๊ะ นำส่วนผสมทั้งหมดใส่น้ำประมาณ ๑ เท่าตัว ต้มประมาณ ๑ ชั่วโมงด้วยไฟอ่อนๆ ใช้ดื่มแทนน้ำ อาการของโรคความดันโลหิตสูงก็จะค่อยๆดีขึ้น
------------------------------------------------------------------------------
ปล.ติดตาม ข้อมูลเต็มรูปแบบ ในหนังสือ “เล่มเดียวคุ้มโรคภัย-๒” ที่ชมรมพิทักษ์ภูมิปัญญาไทย ๐๘-๔๖๘๒-๙๔๘๙
หรือ ที่ ซีเอ็ดบุ๊ค ทั่วประเทศ